Friday, October 8, 2010

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

แหลมโนนวิเศษ

เป็นผืนดินที่ยื่นเข้าไปในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ตั้งอยู่ที่ ตำบลโนนบุรี ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร จากวัดสักกะวันประมาณ 300 เมตร ถึงสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบแยกเลี้ยวซ้ายไปแหลมโนนวิเศษ 3 กิโลเมตร แหลมโนนวิเศษเป็นจุดชมพระอาทิตย์อัสดงที่สวยงาม นอกจากนั้นยังมีแพขนานยนต์ที่ใช้สัญจรข้ามฟากระหว่าง อำเภอสหัสขันธ์ กับอำเภอหนองกุงศรี สามารถบรรทุกได้ทั้งรถ 6 ล้อ และ 4 ล้อ ครั้งละ 4-10 คัน ใช้เวลาข้ามฟากประมาณ 15–20 นาที อัตราค่าบริการ รถจักรยานยนต์ 40 บาท รถยนต์ 4 ล้อ 60 บาท รถยนต์ 6 ล้อ 90 บาท รถตู้ 70 บาท


น้ำตกตาดทอง


ตั้งอยู่ตำบลบ่อแก้ว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน แบ่งเป็นชั้น ๆ มีความสวยงามมาก สภาพป่าโดยรอบเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ และลักษณะเด่นคือ มีน้ำไหลตลอดปีแม้ในฤดูแล้ง
การเดินทาง จากสี่แยกอำเภอเขาวงทางหลวงหมายเลข 2291 เดินทางเข้าทาง รพช. มีป้ายตรงไปน้ำตกผานางคอยระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร (ทางบางช่วงจะเป็นลูกรัง)


ผาเสวย

อยู่บนเทือกเขาภูพาน เขตบ้านแก้งกะอาม ตำบลผาเสวย ห่างจากที่ว่าการอำเภอสมเด็จ 17 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ ประมาณ 58 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสมเด็จ-สกลนคร ทางหลวงหมายเลข 213 ประมาณกิโลเมตรที่ 101–102 ผาเสวย เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ผารังแร้ง” เมื่อ พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จผ่านและเสวยพระกระยาหารกลางวัน จึงเรียกที่ประทับนั้นว่า “ผาเสวย” ลักษณะตั้งอยู่บนเหวลึก หน้าผาสูงชัน ชาวบ้านเรียกว่า “เหวหำหด” บนหน้าผาเสวยสามารถชมทัศนียภาพและเป็นที่พักผ่อนได้เป็นอย่างดี

Thursday, October 7, 2010

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์

วัดพุทธนิมิตภูค่าว

ตั้งอยู่บ้านนาสีนวล ตำบลสหัสขันธ์ ห่างจากตัวอำเภอสหัสขันธ์ประมาณ 7 กิโลเมตร ห่างจากภูสิงห์ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ตะแคงซ้าย ไม่มีเกตุมาลา ความยาวประมาณ 2 เมตร กว้าง 25 ซม. เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป ตามประวัติกล่าวว่าพระโมคัลลานะ พระสาวกของพระพุทธเจ้าสร้างขึ้นเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้ว และทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระพุทธรูปไสยาสน์ในวันที่ 19 เมษายน ของทุกปี นอกจากนี้ภายในวัดยังมีอุโบสถไม้แบบเปิด แกะสลักลวดลายงดงามเป็นภาพสามมิติ ตามประตู หน้าต่าง เพดาน ภาพพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และยังมีวิหารสังฆนิมิต ซึ่งเป็นที่เก็บพระพุทธรูป และพระเครื่องรุ่นต่าง ๆ ที่หายากเปิดให้เข้าชมทุกวัน

พุทธสถานภูปอ

ตั้งอยู่ตำบลภูปอ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ไปทางทิศเหนือประมาณ 28 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 213 กิโลเมตรที่ 59 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางบ้านโจด-บ้านนาจารย์-นาคอกควาย ประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ ฝีมือช่างสมัยทวาราวดี จำหลักบนหน้าผา 2 องค์ เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และใกล้เคียง องค์แรกประดิษฐานอยู่บนเชิงเขาทางขึ้น องค์ที่ 2 ประดิษฐานอยู่บนภูปอ นอกจากภูปอจะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางไสยาสน์อันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีทิวทัศน์ตามธรรมชาติที่สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ประชาชนในท้องถิ่นจะจัดงานสมโภชพระพุทธไสยาสน์ขึ้นประมาณเดือนเมษายนของทุก ปี



วัดศรีบุญเรือง (วัดเหนือ)

อยู่ถัดจากวัดกลางเป็นวัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลเมือง ซึ่งมีเสมาจำหลักเมืองฟ้าแดดสงยางจำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้ โดยปักไว้รอบพระอุโบสถ หลักเสมาจำหลักที่สวยงามคือ หลักที่จำหลักเป็นรูปเทวดาเหาะอยู่เหนือปราสาททำเป็นซุ้มเรือนแก้ว (ศิลปะแบบทวาราวดี) ซ้อนกันเป็น 2 ชั้น ล่างสุดมีรูปกษัตริย์ พระมเหสี และพระโอรส

Monday, October 4, 2010

ข้อมูลจังหวัดกาฬสินธุ์


จังหวัดกาฬสินธุ์ หนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยมีความเจริญทางด้านอารยธรรมอันเก่าแก่ เดิมทีเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติละว้า ต่อมาได้มีการอพยพผู้คนจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนบริเวณ แก่งสำโรงและลำน้ำปาว

นอกจากนั้น กาฬสินธุ์ยังเป็นแหล่งขุดค้นซากไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียง มีพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์แบบและใหญ่ที่สุดใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย รวมทั้งงานหัตถกรรมพื้นบ้านต่างๆ ด้วย

จังหวัดกาฬสินธุ์มีเนื้อที่ประมาณ 7,055.07 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4.3 ล้านไร่ ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขาตามแนวเทือกเขาภูพาน ส่วนตอนกลางเป็นเนินเขาสลับป่าโปร่ง

จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกว่า เดิมทีกาฬสินธุ์เป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าละว้า ซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมมากว่า 1,600 ปี ครั้นเมื่อถึงสมัยกรุงธนบุรี ประมาณ พ.ศ. 2310 พระเจ้าศิริบุญสารได้ยกกองทัพเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ และสถาปนาตนขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัว จนล่วงมาปี พ.ศ. 2320 ท้าวโสมพะมิตร ขุนนางแห่งราชสำนักเวียงจันทน์ได้อพยพไพร่พลหนีความขัดแย้งกับพระเจ้าศิริ บุญสาร ข้ามมาตั้งบ้านเรือนบริเวณลุ่มน้ำก่ำ แถบบ้านพรรณา (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร)

ต่อมา พระเจ้าศิริบุญสารได้ยกทัพติดตามมา ท้าวโสมพะมิตรจึงอพยพหนีต่อ จนท้ายสุดมาพบทำเลที่เหมาะสม คือบริเวณลำน้ำปาว บ้านแก่งสำโรง สาเหตุเพราะน้ำในลำปาวนั้นใสสะอาดเสียจนมองเห็นดินตมเบื้องล่าง ดินตมที่มีสีดำสนิทจนแลดูเหมือนน้ำมีสีดำ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ท้าวโสมพะมิตรจึงได้ลงหลักปักฐาน จัดตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขึ้น และได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายแสดงความสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนกระทั่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่าเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งแปลว่าเมืองน้ำดำ ทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ท้าวโสมพะมิตรเป็น พระยาชัยสุนทร ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก

จังหวัดกาฬสินธุ์แบ่งการ ปกครองออกเป็น 18 อำเภอ คือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอสมเด็จ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอเขาวง อำเภอห้วยเม็ก อำเภอคำม่วง อำเภอหนองกุงศรี อำเภอนามน อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอร่องคำ อำเภอสามชัย อำเภอนาคู อำเภอดอนจาน และอำเภอฆ้องชัย